Inequality ใช้กันในหลายความหมาย เช่น ความไม่เสมอภาค ความไม่เท่าเทียมกัน ความไม่เท่ากัน ความเหลื่อมล้ำ เป็นต้น ซึ่งโดยนัยแล้วทำให้เข้าใจในเชิงลบตามแนวคิดวิพากษ์ (negative criticism) เพื่อคัดค้านผลของโครงสร้างนิยม อย่างไรก็ตาม เมื่อย้อนพิจารณาแล้วจะพบว่า inequality หมายถึง ความแตกต่างเนื่องจากลำดับ (rank) หรือ ความมีคุณค่าของสิ่ง (ศักดิ์ศรี; dignity) โดยเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้ ไม่คงตัว (changeable, inconstant) ซึ่งภววิทยาพิจารณานับเนื่องแต่ลำดับ (ordering) ในการเกิด (genesis/emergence) ซึ่งทำให้สิ่งต่างๆ มีคุณค่าไม่เท่ากัน เนื่องด้วยมีคุณภาพแตกต่างกัน (difference) ซึ่งแนวคิดนี้นำไปสู่การจำแนก/การจัดประเภท กระนั้น กระแสสสารนิยมได้นำไปสู่การพิจารณาคุณค่าของสิ่งในฐานะสิ่งมีอยู่ (existence) ที่เท่ากัน นั่นคือ พิจารณา ณ พื้นที่หนึ่งว่ามีสิ่งมีอยู่อย่างไร ทำไมจึงมีอยู่เช่นนี้ โดยใช้การตีความผ่านภววิทยาของการกระจายทรัพยากรที่แตกต่างกัน ว่าการกระจายที่ไม่เท่ากันส่งผลให้เกิดความคงตัวของความไม่เท่าเทียมกัน ซึ่งรากของปัญหามาจากโครงสร้างทางสังคมที่ถูกสร้างขึ้นและชี้นำให้เกิดผลเช่นนั้น กระบวนการเคลื่อนไหวเพื่อลดความเหลื่อมล้ำจึงมีบทบาทมากขึ้นโดยการส่งเสริมผ่านแนวคิดมนุษยนิยมที่เน้นศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์