หน้าหลัก > ข่าว > เกล็ดความรู้ / สาระปรัชญา > การรับรู้บทบาทเทวราชแบบพระอินทร์
การรับรู้บทบาทเทวราชแบบพระอินทร์

admin philosophy
2022-11-09 09:39:00

การรับรู้บทบาทเทวราชแบบพระอินทร์

ความเป็นพระอินทร์ของระบบเทวราช สะท้อนออกมาเป็นสถาบันกษัตริย์ที่จะต้องมีกรณียกิจที่แสดงออกในฐานะผู้ดูแลและผู้ให้ที่สำคัญ โดยมีการชี้ขยายในทางพระพุทธศาสนาถึงคุณธรรมของพระอินทร์ โดยนำมาจากคุณธรรมที่ปฏิบัติแล้วจึงมีอานิสงฆ์ได้เกิดเป็นพระอินทร์ (ทีฆนิกาย มหาวรรค) ได้แก่ วัตตบท 7 กษัตริย์จะต้องมีจริยวัตรทั้ง 7 นี้ด้วย และเมื่อยกเลิกกฎมณเทียรบาลในสมัยรัชกาลที่ 4 และ 5 ทำให้ประชาชนใกล้ชิดกับกษัตริย์ยิ่งขึ้น คุณธรรมทั้ง 7 นี้ก็เป็นสิ่งที่กล่าวถึงในฐานะพระจริยวัตรอันงดงามของกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรีมาโดยตลอดทุกพระองค์ คตินิยมอีกอย่างหนึ่งคือ 

คติพระโพธิสัตว์ โดยมองว่าพระอินทร์เป็นพระโพธิสัตว์เจ้า จึงทรงบำเพ็ญบารมีดูแลช่วยเหลือโลก ดังนั้น กษัตริย์จึงทรงเป็นพระโพธิ์สัตว์ลงมาบำเพ็ญบารมี ช่วยเหลือประชาชน เป็นผู้ให้สูงสุด ด้วยเช่นเดียวกัน โดยมีการส่งเสริมอำนาจเชิงบารมี (charismatic power) ซึ่งเป็นสิ่งที่ขึ้นอยู่กับตัวบุคคล โดยการมีบารมีนั้นก็คือ การได้รับการยอมรับว่ามีคุณลักษณะเฉพาะตัวที่พิเศษมาก นั่นคือ การเป็นผู้ทรงธรรมอันประเสริฐ และการบำเพ็ญบารมี และมีการขยายผ่านการเทศนาเรื่องพระเวสสันดรชาดก ในประเพณีการเทศน์มหาชาติ ซึ่งได้รับการส่งเสริมอย่างต่อเนื่อง จนได้กลายเป็นวิธีคิดทางศีลธรรมและอำนาจแบบไทย (Jory, 2016)  กษัตริย์ในความนึกคิดของคนไทยนั้น ทรงปฏิบัติราชธรรม ทรงพระราชกรณียกิจแห่งความเป็นจริงเพื่อช่วยเหลือประชาชนและบ้านเมืองของพระองค์

หากพิจารณาจากปรัชญากระบวนทรรศน์หลังนวยุคแล้ว จะพบว่ารากฐานความคิด ความเข้าใจของประชาชนทั่วไปก็ยังคงมองกษัตริย์บนแนวคิดพระอินทร์เป็นฐาน คือ เป็นเทวราชโดยตนเอง เป็นผู้ทรงอำนาจบารมี และทรงธรรมอันประเสริฐ ทั้งนี้มองผ่านความเป็นพระอินทร์ 4 ประการที่ตีความใหม่ออกมาได้ คือ ความเป็นใหญ่ ผู้เป็นใหญ่ ผู้ดูแลและผู้ให้ โดยมีทรรศนะร่วมกันว่า กษัตริย์เป็นผู้เป็นใหญ่ดุจพระอินทร์ และจากตำนานพระอินทร์ การเป็นพระอินทร์ได้ย่อมต้องเกิดจากการสร้างสาธารณะสมบัติอันเป็นประโยชน์แก่คนหมู่มาก จึงสามารถพิจารณาได้ว่า กษัตริย์ได้ทรงบทบาทแห่งพระอินทร์แก่อาณาประชาราษฎร์ ตัวอย่างเช่น

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจเพื่อทำนุบำรุงบ้านเมืองให้เจริญรุ่งเรือง โปรดให้สร้างพระราชวัง วัดวาอาราม เช่น วัดพระศรีรัตนศาสดาราม วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม วัดสระเกศและวัดสุทัศนเทพวราราม ทั้งยังฟื้นฟูทำนุบำรุงงานศิลปกรรม ขนบธรรมเนียมและราชประเพณีต่าง ๆ กวดขันศีลธรรมข้าราชการและพลเมือง เป็นต้น

พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงทำนุบำรุงบ้านเมืองในทุกด้าน ทรงบริหารราชการโดยการกระจายอำนาจการบริหารไปสู่บุคคลที่มีความสามารถในด้านต่าง ๆ โปรดเกล้าฯ ให้สร้างป้อมปราการต่าง ๆ ด้วยพระมหากรุณาธิคุณที่มีต่อราษฎร ทรงตราพระราชกำหนดห้ามมิให้ซื้อขายและสูบฝิ่น ส่งผลให้บ้านเมืองและพสกนิกรมีความสุข เป็นต้น

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทางบริหารราชการจนอาณาจักรมีความเจริญรุ่งเรืองทางด้านเศรษฐกิจและศาสนาเป็นอย่างยิ่ง มีการสร้างวัดวาอารามจำนวนมาก โปรดให้ขุดคลองแสนแสบ เป็นต้น ประเทศมีความมั่นคงทั้งทางด้านการปกครอง เศรษฐกิจ และสังคม เป็นต้น

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงวางรากฐานในการสร้างความเจริญก้าวหน้าของบ้านเมือง การสร้างถนน การเผยแพร่ความรู้ การทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา บูรณะและปฏิสังขรณ์พระอารามต่างๆ เป็นต้น

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพัฒนาบ้านเมือง การสร้างถนนและสะพานจำนวนมาก ส่งเสริมการสาธารนูปโภคเช่น ไฟฟ้า น้ำประปา การรถไฟ การไปรษณีย์ พัฒนาการสาธารณสุข การตั้งโรงพยาบาล และการศึกษาอย่างเป็นระบบ ทรงใฝ่พระทัยในทุกข์สุขของอาณาประชาราษฎร์ ทรงดำเนินการเลิกทาสโดยมิให้กระทบกระเทือนถึงเจ้าของทาสและทาส และด้วยการเสด็จประพาสต้นทำให้ได้ทรงแก้ไขปัดเป่าความทุกข์ยากให้ ราษฎรของพระองค์ได้ผลโดยตรง

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว  ทรงสถาปนาจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย และการพระศาสนาเจริญสูงขึ้น ทรงทำนุบำรุงปฏิสังขรณ์วัดวาอาราม และขยายการศึกษาของสงฆ์ให้กว้างขวาง การคมนาคม เช่น การรถไฟ

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงแก้ไขการงบประมาณของประเทศให้งบดุลย์อย่างดีที่สุด โดยทรงเสียสละตัดทอนรายจ่ายส่วนพระองค์ ทรงส่งเสริมการศึกษาของชาติทั้งส่วนรวมและส่วนพระองค์ โปรดให้ปรับปรุงงานสุขาภิบาลทั่วราชอาณาจักรให้ทัดเทียมอารยประเทศ ขยายการสื่อสารและการคมนาคม ขยายเส้นทางรถไฟ สร้างสะพานปฐมบรมราชานุสรณ์ (สะพานพุทธ) เพื่อเชื่อมกรุงเทพฯและธนบุรี เป็นต้น

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล ทรงครองราชย์แต่ชันษาน้อยและสวรรคตเร็ว จึงยังมิได้มีพระราชกรณีกิจในด้านการพัฒนาบ้านเมืองนัก

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาทบพิตรทรงพระราชกรณียกิจของในการแก้ไขปัญหาความยากจนของประชาชน โดยการพัฒนาด้านการเกษตร จัดตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ การสร้างอาชีพแก่ประชาชน ส่งเสริมการเลี้ยงไหม การประมง ป่าไม้ โครงการเกษตรหลวง ฯลฯ ผ่านโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริกว่า 4,810 โครงการ ทรงเกื้อหนุนการบริหารราชการทุกรัฐบาล พระราชทานแนวพระราชดำริให้รัฐบาลนำไปปฏิบัติเพื่อการจัดระบบการจัดการที่ดินและแหล่งน้ำ ทรงพระกรณียกิจในด้านการพัฒนาการสาธารสุขและการศึกษา พระราชดำริในด้านการสร้างสาธารณสมบัติ เช่น ถนนบรมราชชนนีและสะพานพระราม 8 เป็นต้น

พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานเงินสำหรับจัดซื้อเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ จากทั่วประเทศที่ยังขาดแคลนและมีความจำเป็นในการให้บริการ ในการรักษาพยาบาลแก่ผู้ป่วยในวาระต่างๆ (มติชน, 7 พฤษภาคม 2562) พระราชทานเครื่องมือแพทย์ตามโครงการราชทัณฑ์ ปันสุข ทำความดี เพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ให้กับเรือนจำกลางระยอง เรือนจำกลางชลบุรี และทัณฑสถานหญิงชลบุรี รวมทั้งจัดบริการทางการแพทย์ให้กับผู้ต้องขังในเรือนจำเป้าหมายอีก 24 แห่ง (ไทยรัฐ, 11 มกราคม 2563) ได้ทรงพระราชทานจัดซื้อและหาอุปกรณ์ทางการแพทย์ โดยเบื้องต้นเป็นเครื่องช่วยหายใจ กว่า 100 รายการ รวมทั้งเครื่องมือแพทย์ต่างๆ มอบให้แก่โรงพยาบาลต่างๆ เพื่อรับมือสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 (คมชัดลึก, 23 มีนาคม 2563) เป็นต้น

สรุปการรับรู้บทบาทเทวราชแบบพระอินทร์ของประชาชน

          กรุงรัตนโกสินทร์ได้มีการปรับแนวคิดเทวราชจากพระรามมาเป็นพระอินทร์ และได้มีการดำเนินการเพื่อให้เกิดการยอมรับกษัตริย์ในฐานะผู้ทรงอำนาจบารมี มีคุณธรรมและทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา โดยดำเนินการผ่านการตั้งชื่อเมืองหลวง การสร้างบ้านแปลงเมือง การตั้งชื่ออาคารสถานที่ พระนามในพระสุพรรณบัฎ และการยกย่องคุณธรรมของผู้นำ ซึ่งมีการสื่อถึงพระอินทร์อยู่เสมอ ทั้งนี้ เมื่อวิเคราะห์เชิงปรัชญาก็จะเห็นได้ว่า ความเป็นกษัตริย์อย่างพระอินทร์ได้แสดงผ่านนัยยะ 4 ประการ คือ ความเป็นใหญ่ ผู้เป็นใหญ่ ผู้ดูแลและผู้ให้ อันได้มาจากฐานปรัชญาอารยันที่มาพร้อมความเชื่อและหลักธรรมของศาสนาพราหมณ์-ฮินดูและพระพุทธศาสนา กับปรัชญาไทยจากแนวคิดและคตินิยมในสังคม ซึ่งประชาชนได้มีความเชื่อและการยอมรับในความเป็นพระอินทร์ของกษัตริย์อย่างชัดเจน การสืบทอดเทวสิทธิ์จึงมิได้ขึ้นกับสายเลือด แต่ขึ้นกับอำนาจบารมี คุณธรรม และพระจริยวัตรของกษัตริย์ที่แสดงถึงความเป็นพระอินทร์เทวราชอีกด้วย

ส่วนหนึ่งของ สิริกร อมฤตวาริน, เอนก สุวรรณบัณฑิต. (2563). พระอินทร์เทวราชา: การตีความแบบหลังนวยุค. รายงานการวิจัย, มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา.

ที่มา https://philosophysuansunandha.com/