ปรัชญารับใช้สังคม เป็นโครงการปรัชญาประยุกต์เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของคนในสังคมไทย โดยเฉพาะในกลุ่มคนพิการ ผู้เปราะบาง และผู้ด้อยโอกาส โดยมีการทำงานอย่างเป็นสหวิทยาการระหว่างหน่วยงานกับองค์กรอื่น ๆ ทั้งในส่วนภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประสังคมต่าง ๆ
โครงการ ปรัชญารับใช้สังคม ก่อตั้งโดย ผศ.ดร.เมธา หริมเทพาธิป และคณาจารย์ สาขาปรัชญาและจริยศาสตร์ โดยใช้ “สถาบันพอดี” มูลนิธิสหธรรมิกชน เป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนวิชาการร่วมสมัยให้ตอบโจทย์ความต้องการของสังคม ในด้านการแก้ปัญหา การพัฒนา การสร้างความร่วมมือด้วยความตระหนัก ใส่ใจ และแบ่งปัน โดยใช้ปรัชญาที่ทันสมัยที่สุดในโลก คือ “ปรัชญาหลังนวยุคสายกลาง” หรือ “Moderate Postmodern Philosophy” มาเป็นแนวคิดและหลักการในการดำเนินงาน
โดยมีเป้าหมายเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต คือ ไม่ได้หยุดอยู่แค่การวิเคราะห์ทางวิชาการ แต่นำปรัชญามาประเมินค่าสู่การปฏิบัติได้จริง ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของสาขาปรัชญาและจริยศาสตร์ทั้งในระดับปริญญาโทและปริญญาเอก
“เราไม่ได้ทำวิชาการเพื่อบูชาวิชาการ
เราทำวิชาการ เพื่อวิเคราะห์ ประเมินค่า และนำไปประยุกต์ใช้
เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตทั้งโดยส่วนตนและส่วนรวม”
หลักการในการดำเนินงานจะต่างจากงานบริการสังคมในรูปแบบเดิมที่เป็นลักษณะมีผู้รู้ไปสอนผู้ไม่รู้ แต่การดำเนินงานภายใต้โครงการนี้จะเน้นการความร่วมมือ ร่วมแรง ร่วมใจของคนในชุมชน สังคม หรือองค์กรนั้นๆ
โดยอาจารย์สาขาปรัชญาและจริยศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ องค์กร/หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม จะร่วมกันคิด กำหนดแนวทาง โดยเริ่มจาก “การระเบิดจากข้างในร่วมกัน” เพื่อค้นหาความต้องการหรือปัญหาที่ต้องการแก้ไข หรือสิ่งที่ต้องการพัฒนาร่วมกัน
ดังนั้น สิ่งสำคัญจึงได้แก่ การรับฟัง ร่วมเรียนรู้ด้วยความเคารพ ไม่ลุแก่อำนาจในด้านตำแหน่งหรือคุณวุฒิทางการศึกษา เป็นพื้นที่ปลอดภัย เปิดรับความรู้สึกนึกคิดและทัศนะที่แตกต่าง หาจุดร่วมเพื่อให้เกิดการเกื้อกูล ติดต่อประสานงาน ให้คำปรึกษาในฐานะเพื่อนกัลยาณมิตร ใช้ความจริงใจ ให้คุณค่ากับความตระหนัก ใส่ใจ และแบ่งปันร่วมกัน เพื่อให้เกิดความยั่งยืน
อาจารย์สาขาปรัชญาและจริยศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ขับเคลื่อนโครงการ “ปรัชญารับใช้สังคม” มาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 จนถึงปัจจุบัน โดยได้รับความร่วมมือจากมูลนิธิสหธรรมิกชนและภาคีเครือข่าย ได้จัดตั้ง “สถาบันพอดี” เพื่อนำหลักปรัชญาและสหวิทยาการต่าง ๆ มารับใช้สังคมในวงกว้างผ่านโครงการและกิจกรรมที่หลากหลาย
ลักษณะพิเศษของสำนักปรัชญาสวนสุนันทา นำโดย ศาสตราจารย์กีรติ บุญเจือ ราชบัณฑิตประเภทวิชาปรัชญา เป็นปรัชญาที่สามารถนำไปพัฒนาคุณภาพชีวิตได้จริง โดยใช้กระบวนการทางปัญญาในการแก้ไขปัญหา พัฒนา และสร้างความร่วมมืออย่างเป็นสหวิทยาการ
เน้นองค์รวม ไม่แยกส่วน
เน้นความร่วมมือ ไม่แข่งขัน
เน้นความรักความเข้าใจ
ไม่ตัดสินด้วยอคติ
ยอมรับความแตกต่างหลากหลาย
หาจุดร่วมเพื่อการเกื้อกูลกันในสังคม
1. เพื่อนำปรัชญามาเป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์วิจัย ประเมินค่า และประยุกต์เพื่อรับใช้สังคมไทย
2. เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมกับภาคประชาสังคม ส่งเสริมสหวิทยาการร่วมสมัย โดยมีเป้าหมายเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนไทยในทุกช่วงวัย
3. เพื่อสร้างสื่อประชาสัมพันธ์ เผยแพร่แนวคิดและผลงานให้เป็นที่ประจักษ์ต่อสังคมไทย
1. งานวิทยากร กระบวนกร พิธีกร และการจัดเวทีสาธารณะ
2. งานวิชาการเชิงปรัชญา สู่การกำหนดยุทธศาสตร์
3. งานปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อการเรียนรู้สู่สังคม
4. งานขับเคลื่อนสังคมแห่งการแบ่งปันตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
5. งานนวัตกรรมทางความคิดเพื่อแก้ปัญหาและพัฒนาอย่างยั่งยืน
6. งานพัฒนาสุขภาวะทางปัญญา "ระเบิดจากข้างใน" สู่ "ความจริง ความงาม ความรัก"
7. งานสื่อสร้างสรรค์ทางปรัชญาเพื่อสังคมไทย
8. งานศาสตร์พระราชาสู่ปัญญาปฏิบัติ
9. งานเครือข่ายภาคประชาสังคม สร้างความตระหนักรู้สู่การแบ่งปัน
www.philosophy.grad.ssru.ac.th
#ปรัชญาสวนสุนันทา #ปรัชญาและจริยศาสตร์ #SSRU #philosophy #gradssru #philosophy_and_ethics
#สถาบันพอดี #มูลนิธิสหธรรมิกชน